ปวดหัวและปวดตา
ปวดหัวและปวดตา อาการที่คนทั่วไปเป็นบ่อย จนมักจะละเลยสัญญาณแห่งโรคต่างๆ นี้ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุก็มีอันตรายถึงขั้นชีวิต แต่บางสาเหตุก็เพียงทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้น และบางครั้งก็หาสาเหตุไม่ได้
สาเหตุที่ทำให้ปวดหัว ปวดตา แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1 ความเครียดของกล้ามเนื้อ
การปวดหัวจากสาเหตุนี้ มักพบบ่อยๆ คนไข้จะปวดหัวจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อแถวต้นคอและท้ายทอย โดยอาการปวดมักจะไม่มีตำแหน่งที่แน่นอน มักจะปวดร้าวไปที่บริเวณขมับและหน้าผาก หรือกระบอกตา อาการปวดแบบนี้อาจจะเกิดจากความเครียดในการทำงาน นอนผิดท่า นอนตกหมอน เป็นต้น
การปวดหัวจากความเครียดของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับตา คือการปวดบริเวณกระบอกตา หลังจากทำงานที่ละเอียดหรือว่าต้องใช้สายตา เช่น งานฝีมือ หรืออ่านหนังสือตัวเล็กๆ นานๆ พวกนี้จะมีอาการปวดกระบอกตา และอาจร้าวไปถึงท้ายทอยได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากล้ามเนื้อตาล้า หรือกล้ามเนื้อตา ที่ทำงานเกี่ยวกับการเพ่งไม่แข็งแรงพอ คือเพ่งไม่เก่งนั่นเอง
2 ไมเกรน
คนไข้ที่มีอาการนี้มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว ตามด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน อารมณ์หงุดหงิด และอาจจะเห็นภาพมัวไปชั่วขณะ หรือเห็นแสงไฟแลบหรือฟ้าแลบกับอาการปวดหัวก็ได้ คนเหล่านี้อาจจะมีประวัติทางครอบครัวร่วมด้วยจากโรคต่างๆ เช่น โรคของสมอง ตา หู โพรงจมูก และฟัน เช่น โรคความดันโลหิตสูงจากสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือมีเลือดออกในเยื่อบุสมองในรายที่เคยได้รับอุบัติเหตุ จากไซนัส, จากหูน้ำหนวก, จากฟันผุ ซึ่งในที่นี้จะพูดเฉพาะอาการปวดหัวที่เกี่ยวข้องกับตาเท่านั้น
3 กล้ามเนื้อตาล้า
อาการกล้ามเนื้อตาล้า คือ อาการปวดหัว ปวดตา ที่เกิดขึ้นเวลาทำงานที่ต้องใช้สายตาใกล้ๆ ในงานที่ละเอียด ซึ่งคนเหล่านี้มักจะทำงานโดยใช้สายตาใกล้ๆ นานๆ ไม่ได้ เพราะกล้ามเนื้อตาที่ใช้มองใกล้ หรือรวมตัวเพ่งในที่ใกล้นั้นไม่แข็งแรงพอ คนไข้จะมีอาการปวดตา ปวดหัว อาจจะปวดที่กระบอกตาและร้าวไปถึงท้ายทอยได้ บางครั้งก็ตาลายเวลาอ่านหนังสือ หรือทำงานที่ต้องใช้สายตาในระยะใกล้ๆ อาการนี้มักพบในเด็กหรือวัยรุ่นที่ต้องอดนอนอ่านหนังสือนานเป็นเวลานานๆ หรือเล่นวีดีโอเกมเป็นเวลานานๆ และอีกกลุ่มที่พบได้คือ กลุ่มที่อายุเริ่มเข้า 40 ปี ซึ่งจำเป็นต้องใช้แว่นดูใกล้ๆ
4 สายตาผิดปกติ
สายตาผิดปกติ คนเหล่านี้มักจะมีอาการปวดหัวไม่มาก แต่ในกรณีที่สายตา 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือรายที่มีสายตาเอียงมากๆ จะทำให้ปวดหัว ปวดตาได้ การรักษาจำเป็นต้องตรวจเรื่องสายตาและแก้ไขด้วยการใส่แว่น
5 ต้อหินชนิดเฉียบพลัน
คนไข้มักจะมีอาการปวดหัว ปวดตา ตามัว โดยอาการปวดหัวมักรุนแรง และทานยาแก้ปวดก็ไม่หาย ตาอาจจะแดง เคืองตา น้ำตาไหล ตรวจพบว่าความดันในลูกตาสูงมาก โรคนี้ควรรีบมาพบจักษุแพทย์อย่างเร่งด่วน และต้องได้รับการรักษาให้ทันท่วงที มิฉะนั้นความดันในลูกตาจะกดประสาทตา และถ้าหากทิ้งไว้นานเข้าก็จะกดจนตาบอดได้
การรักษา
– ในกรณีที่ปวดตาจากกล้ามเนื้อตาล้าควรจะพบจักษุแพทย์ก่อน เพื่อดูว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสายตาอื่นๆ หรือไม่ ถ้ามีก็ควรแก้ไขตามคำแนะนำของแพทย์
– ในกรณีที่สายตาปกติดี หรือแก้ไขปัญหาสายตาแล้วยังปวดหัว หรือปวดตาอยู๋ ให้ฝึกการเพ่งของกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถทำเองได้ง่ายๆ โดยถือปากกาหรือดินสอไว้ห่างสุดแขนแล้วเพ่งดูปลายปากกาหรือดินสอนั้น และค่อยๆ เอาปากกาหรือดินสอเข้าหาตัวช้าๆ ขณะเดียวกันก็เพ่งดูปลายปากกาหรือดินสอตลอดเวลา โดยต้องเห็นภาพปลายปากกาหรือดินสอนั้นชัดเจน และเป็นภาพเดียวตลอดเวลา ถ้าหากเห็นเป็น 2 ภาพ หรือเริ่มเห็นไม่ค่อยชัดแสดงว่าตาเริ่มไม่รวมตัว ต้องยืดแขนถอยออกไป จนกระทั่งเห็นภาพชัดใหม่ แล้วเริ่มเพ่งใหม่โดยค่อยๆ เอาปากกาหรือดินสอเข้าหาตัวมากขึ้นๆ โดยทำเช่นนี้ครั้งละ 10-15 รอบ วันละ 3-5 ครั้ง
– การอ่านหนังสือหรือทำงานที่ละเอียดหรือต้องใช้สายตา ให้ทำในที่ๆ มีแสงสว่างมากพอ และควรมีการพักระหว่างทำงานบ้างเป็นช่วงๆ
สรุป
อาการปวดหัวเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อย และเป็นได้ในทุกเพศทุกวัย โดยมีสาเหตุต่างกันออกไป ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอันตราย หายเองได้ โดยการรับประทานยาแก้ปวด แต่อาการปวดหัวบางชนิดอาจจะเป็นอันตรายแก่สายตาหรือถึงขั้นชีวิต ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดหัวร่วมกับอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น การมีไข้ คอแข็ง สายตาพร่ามัวลง มีอารมณ์และความประพฤติเปลี่ยนไป มีอาการปวดหัวรุนแรงจนตื่น คลื่นไส้และอาเจียน เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และแก้ไขให้ทันท่วงที