Comfort Zone ก้าวออก มาดีกว่าที่คิด
Comfort Zone
Comfort Zone หรือที่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พื้นที่ปลอดภัย ในแง่ของการทำงาน ก็คือการทำงานในตำแหน่งที่เราคุ้นเคย ทำงานด้วยวิธีการทำงานที่เราชำนาญที่สามารถเชื่อถือได้ว่า จะให้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่เคยเป็นมา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือกรอบการทำงานแบบเดิม ๆ ที่เราคุ้นชิน เชี่ยวชาญ และทำได้ดี หลายคนอาจจะคิดว่า ถ้างานที่ทำดีอยู่แล้ว จะต้องพยายามก้าว ออกจาก คอมฟอร์ทโซนเพื่ออะไร เพราะนั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะได้รับผลลัพธ์ของการทำงานที่อาจจะไม่ดีเหมือนเดิม แต่ถ้ามองอีกแง่ ก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมแบบก้าวกระโดดเลยก็ได้
วิธี ก้าวออก จากคอมฟอร์ตโซน
1 ซื่อสัตย์กับความต้องการของตัวเอง
คุณต้องลองถามตัวเองให้แน่ชัด ว่าจริงๆ แล้วคุณไม่มีเวลาจริงๆ หรือเป็นข้ออ้างเพราะคุณกลัวที่จะก้าวออกมา เป็นข้ออ้างให้ตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำนู่นทำนี่
เทคนิคคือ คุณต้องถามตัวเองว่า ถ้ามีใครสักคนให้ข้ออ้างเดียวกับคุณนี้ คุณจะมองว่ามันคือข้ออ้างหรือข้อเท็จจริง จากนั้นคุณก็ค่อยๆ ตัดสินใจ และถามตัวเองอีกครั้งว่า คุณกล้าพอที่จะออกจากคอมฟอร์ทโซนและกล้าที่จะพัฒนาตัวเองหรือไม่
2 ทำสิ่งเดิมด้วยวิธีการใหม่ ๆ
กระตุ้นความคิดของคุณด้วยการคิดหาวิธีการทำสิ่งเดิม ๆ ด้วยวิธีการใหม่ ๆ เช่น คุณแปรงฟันด้วยมือข้างที่ถนัดมาตลอดทั้งชีวิต ลองเปลี่ยนมาแปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัดดูบ้าง หรือลองเปลี่ยนขั้นตอนการอาบน้ำ ที่เดิมคุณอาจจะแปรงฟันก่อน แล้วค่อยสระผม แล้วอาบน้ำ คุณอาจจะลองสลับขั้นตอนก่อนหลังดูใหม่ หรือจากเดิมที่ทำงานชิ้นหนึ่งด้วยตัวเองมาตลอด ลองเปลี่ยนเป็นอธิบายให้คนอื่นฟังและขอให้เขาคนนั้นทำแทนคุณ
นวัตกรรมเกิดจากการคิดในมุมมองใหม่ ทดลองสิ่งใหม่ ๆ วิธีการนี้นอกจากจะทำให้คุณสนุกไปกับการออกแบบวิธีใหม่ ๆ ให้กับกิจวัตรเดิม ๆ แล้ว ยังทำให้คุณคุ้นเคยกับการทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคย เริ่มเบื่อกับความจำเจ เริ่มท้าทายตัวเองด้วยสิ่งใหม่ และอาจทำให้คุณค้นพบนวัตกรรมบางอย่าง หรือค้นพบวิธีทำสิ่งเดิมให้ง่ายและเร็วขึ้นก็ได้
3 เปิดรับโอกาสในการทำสิ่งที่ยากขึ้น
งานยากจะบีบให้คุณพัฒนา ความไม่มั่นคงจะกดดันให้คุณต้องทำตัวเองให้เก่งพอและแกร่งพอ เพื่อพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน ไม่เฉพาะแต่ฝีมือในการทำสิ่งต่าง ๆ แต่ยังรวมถึงความสามารถด้านจิตใจที่จะรับมือกับความเครียด ความวิตกกังวล ความล้มเหลว ความเสียใจ และความไม่สบาย
อย่าลืมว่าในการใช้ชีวิตทุกวันนี้ทุกคนต่างต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค ความผิดพลาด ความล้มเหลว และการถูกปฏิเสธทั้งนั้น แต่ความรู้สึก มุมมอง และการรับมือของแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันออกไป และคุณสามารถปรับวิธีคิดและมุมมองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงที่จะสร้างบทเรียนและประโยชน์ให้กับตัวคุณ มองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ มากกว่าจะตราหน้าตัวเองซ้ำ ๆ ว่าฉันเป็นคนไม่ได้เรื่อง ฉันทำไม่ได้
เมื่อคุณเริ่มกล้ารับโอกาสที่ท้าทายขึ้น แล้วคุณทำได้ดี หรือทำสำเร็จ จุดนี้จะทำให้คุณเริ่มสนุก เริ่มสร้างความมั่นใจในตัวเองไปอีกขึ้น และเมื่อทำสิ่งนั้นได้คล่องแล้ว คุณจะเริ่มแสวงหาความท้าทายขึ้นไปอีกขั้น เป็นการทลายกรอบความเชื่อที่ว่า คุณทำไม่ได้ คุณรับมือกับความเครียดไม่ได้ ออกไปทีละเล็กละน้อย
4 ตั้งใจ ตั้งมั่น เอาจริง
แรกๆ คุณอาจรู้สึกอึดอัด และลำบากที่จะบังคับตัวเอง แต่เราแนะนำว่าให้คุณทำมันต่อไปเรื่อยๆ ทีละเล็ก ทีละน้อย จากนั้น ก็กระโดดขึ้นไปโบยบินกับโลกภายนอกได้เลย เช่น ก่อนหน้านี้คุณอาจไม่ชอบการพูดต่อหน้าสาธารณชน แต่คุณสามารถทำให้มันดีขึ้นได้ ด้วยการฝึกทีละเล็ก ทีละน้อย เช่น คุณอาจเข้าคลาสการพูดต่อหน้าสาธารณชน โดยเริ่มต้นจาก การถือโพย แล้วหัดอ่าน หัดพูด จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาไปสู่การพูดแบบไม่ใช้บท ทีละเล็ก ทีละน้อยแบบนี้ ไปเรื่อยๆ จนสักพัก คุณก็สามารถทุ่มตัวและหัวใจไปกับการทำสิ่งต่างๆ ได้เลย ถ้าคุณล้มก็แค่ลุกขึ้นมาใหม่ และสู้ต่อ ทำต่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชิน