ติดโควิด-19 เกิดจากปัจจัยอะไร ทำไมบางคนติดง่าย แต่บางคนไม่ติดเลย
ติดโควิด-19
ติดโควิด-19 เหตุใดบางคนจึงติดเชื้อโควิด-19 เหตุใดบางคนจึงไม่ติด ทั้งๆ ที่พวกเขาอาจจะสัมผัสเชื้อไวรัสโควิดในจำนวนเท่า ๆ กัน ก็ตาม คำถามที่บางที คุณก็อาจกำลังสงสัยอยู่ใช่หรือไม่ ในวันนี้ เราลองไปอ่านความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่พยายามค้นหา คำตอบในเรื่องนี้กันดูว่า มันอาจจะเกิดขึ้นกันแน่ มันมาจากปัจจัยใดได้บ้าง และจนถึงปัจจุบันมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้บางคนติดโควิดยาก หรือบางคนไม่ติดเลย
ทีเซลล์ (T-cells)
เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา งานวิจัยล่าสุด ที่ถูกตีพิมพ์ จาก อิมพีเรียล คอลเลจ ในประเทศอังกฤษ ระบุว่า การสัมผัสกับไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เสมอไป
โดยเฉพาะกับคนบางส่วนที่มี ทีเซลล์ (T-cells) ในระดับสูง หลังติดเชื้อไข้หวัดธรรมดาก่อนหน้านี้ กลับมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ที่แข็งแกร่ง จนกระทั่ง แม้ว่าจะได้สัมผัสกับไวรัส SARS-CoV-2 แต่กลับไม่ได้ติดเชื้อเลย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้นั้น สามารถหลีกเลี่ยงไวรัสได้อย่างสมบูรณ์ หรือว่า เป็นเพราะสามารถกำจัดไวรัสได้ ตามกลไกธรรมชาติ ก่อนที่จะตรวจพบด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อหรือไม่
แต่ถึงแม้ว่าการค้นพบในครั้งนี้ จะถือเป็นหนึ่งในการค้นพบที่สำคัญ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ก็ยังคงยืนยันว่า มันเป็นเพียงหนึ่งในรูปแบบของกลไกการป้องกันของร่างกายเท่านั้น และวิธีการที่ดีที่สุด จากการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในเวลานี้ ก็ยังคงเป็นการเข้ารับการฉีดวัคซีนครบสูตร รวมถึงวัคซีนเข็มกระตุ้น
พันธุกรรม
อีกหนึ่งคำถามสำคัญ ที่เกิดขึ้น ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เหตุใดคนสองคน ที่ติดเชื้อโควิดเหมือนกัน จึงมีการตอบสนอง ต่อการติดเชื้อที่แตกต่างกันมาก โดยคนหนึ่งอาจพบว่ามีอาการป่วยหนัก ในขณะที่อีกคนกลับไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ เลยทั้งสิ้น
โดย ศจ.แดนนี อัลแมน (Danny Altmann) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยา อิมพีเรียล คอลเลจ ในลอนดอน เปิดเผยว่า งานวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างพันธุกรรมกับระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ และการติดเชื้อโควิด ซึ่งกำลังจะมีการเผยแพร่ในเร็ว ๆ นี้ พบว่า รูปแบบของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์นั้น สามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้
โดยการวิจัย มุ่งเน้นไปที่ Human leukocyte antigen หรือ HLA ซึ่งเป็นแอนติเจน ที่สามารถพบได้บนผิวเซลล์ของเม็ดเลือดขาว และเนื้อเยื่ออื่นๆ ของร่างกาย ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกระตุ้น ให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย และพบว่า HLA บางชนิดมีแนวโน้มว่า จะมีการติดเชื้อโควิด แบบแสดงอาการอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มียีน HLA-DRB1*1302
วัคซีนต้านโควิด-19
วัคซีนต้านโควิดนั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อที่รุนแรง ลดการเข้ารับการรักษาตัว ในโรงพยาบาล รวมถึงลดการเสียชีวิตได้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีวัคซีนชนิดใด ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้มากถึง 100% ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่มีอยู่จนถึง ณ ตอนนี้ คือ แม้ว่าจะมีบางคนที่ฉีดวัคซีนครบสูตร หรือ วัคซีนเข้มกระตุ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ (ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงนัก) แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่ง ที่มีการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกัน ที่แตกต่างออกไปอีก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้นั้น จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาวัคซีนในอนาคต
ติดโควิด-19 ผลการทดลอง และวิจัยล่าสุดพบอะไรเพิ่มเติม
การทดลองและวิจัยล่าสุดของ อิมพีเรียล คอลเลจ ร่วมกับศูนย์วิจัยอื่น ๆ ในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้มีการนำอาสาสมัครวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี รวมทั้งหมด 36 คน มาทำการทดสอบด้วยการให้ได้รับเชื้อโควิด ในระดับต่ำ ด้วยวิธีการแหย่เข้ารูจมูก จากนั้น อาสาสมัครทุกคน จะอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ และการควบคุมภายใต้สภาวะแวดล้อม ที่มีการควบคุมที่ดี ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าอาสาสมัคร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ติดเชื้อ ในขณะที่อีก 50% ไม่ติดเชื้อ โดยอาสาสมัคร 18 คนที่มีการติดเชื้อ จะมีจำนวน 16 คน ที่พบว่ามีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย คล้ายอาการเป็นหวัด เช่น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล การไอ จาม และเจ็บคอ
นอกจากนี้แล้ว ยังได้รับข้อมูลสำคัญเรื่อง ระยะฟักตัว โดยทั้ง 18 คน มีเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ เริ่มสัมผัสไวรัสในครั้งแรก จนถึงการตรวจพบไวรัส และจะมีอาการในระยะแรกเริ่ม ประมาณ 42 ชั่วโมง ซึ่งสั้นกว่าการประมาณการค่าเฉลี่ยก่อนหน้านี้ ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 วัน และจากการตรวจหา ปริมาณเชื้อไวรัส ภายในจมูกและคอ ของอาสาสมัครที่ติดเชื้อ ยังพบว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณของเชื้อไวรัส ที่พบสูงสุด จะอยู่ที่ช่วงเวลาประมาณ 5 วันหลังการติดเชื้อ ในขณะที่บางคนนั้น อาจพบปริมาณเชื้อสูงสุด ในวันที่ 9-12